ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2023

Google เปิดตัว Bard – แชทบอท AI ใช้โมเดล LaMDA พร้อมสู้ ChatGPT

เมื่อ Google เริ่มลงสนาม AI อย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัว Bard แชทบอท AI จากโมเดล LaMDA อันทรงพลัง

หลังจากที่ ChatGPT (แชทจีพีที) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (Google) ทำให้ทางกูเกิลต้องเร่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งจาก ChatGPT

ChatGPT พัฒนาขึ้นด้วยโมเดลภาษาจีพีที 3.5 (GPT 3.5) จากโอเพนเอไอ (OpenAI) ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลคำสั่งซับซ้อน และถูกฝึกด้วยคลังข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น จนปัจจุบันผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยที่เข้าใช้งาน ChatGPT ให้ช่วยตอบสารพันปัญหาคาใจ อีกทั้งยังให้ผลการค้นหาที่ตรงใจกว่าการใช้เว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ของกูเกิล
และด้วยเหตุนี้จึงทำให้กูเกิลเริ่มหวาดกลัวพลังของ ChatGPT มากขึ้น จนถึงกับต้องประกาศ “รหัสแดง” ซึ่งแสดงถึงภัยคุกคามต่อบริษัท (อ่านข่าวย้อนหลัง ที่นี่) และนี่จึงเป็นเหตุให้กูเกิลต้องนำปัญญาประดิษฐ์ตัวเดิมที่เคยพัฒนาไว้ด้วยโมเดลภาษาแลมดา (LaMDA) ออกมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง

ล่าสุด กูเกิลได้ประกาศเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ Bard (บาร์ด) ที่พัฒนาขึ้นด้วยโมเดลภาษา LaMDA แต่เป็นเวอร์ชันที่มีความซับซ้อนของโค้ดน้อยกว่า สามารถประมวลผลได้รวดเร็วและเหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไปมากกว่า ทั้งนี้ LaMDA รุ่นเล็กก็ยังคงความสามารถในการค้นหาข้อมูลและตอบคำถามได้อย่างดีเยี่ยม
เชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ Bard อาจทำได้ดีกว่า ChatGPT คือ การที่กูเกิลเป็นเจ้าของเสิร์ชเอนจินขนาดใหญ่ จึงไม่ต้องหาแหล่งข้อมูลจากที่ใดมาป้อนให้ปัญญาประดิษฐ์ เมื่อเทียบกับ ChatGPT การฝึกสอน Bard จึงทำได้สะดวกกว่าและทรงพลังมากกว่า
ขณะนี้กูเกิลยังไม่เปิดให้เข้าใช้งาน Bard ได้แบบสาธารณะและยังไม่แจ้งวันเปิดให้บริการ อาจต้องรอวันแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านไลฟ์สตรีมในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 20.30 น. คุณสามารถดูตัวอย่างการตอบคำถาม “การค้นพบล่าสุดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่เหมาะกับเด็ก 9 ปี” จากภาพด้านล่างนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นจุดเด่นเหนือ ChatGPT นั่นคือข้อมูลที่อัปเดตใหม่ล่าสุดในปี 2023 ด้วย

จะเห็นได้ว่าในปี 2023 นี้ คือ ปีแห่งปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง ค่ายเทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาใช้ช่วยงาน และคาดว่างานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์น่าจะกลายเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/138021/

AI ช่วยไขปริศนา “บทละครที่สาบสูญ” ของนักเขียนวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำทางสู่การค้นพบบทละครที่สูญหายของเฟลิกซ์ โลเป เด เวก้า หนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมผู้ยิ่งใหญ่ของสเปน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา หอสมุดแห่งชาติสเปน ยืนยันว่าโลเป เด เวก้า นักเขียนคนสำคัญช่วงยุคทองของสเปน ได้เขียนวรรณกรรมเรื่อง ลา ฟรานเชสซ่า ลอรา (La francesa Laura) หรือ “หญิงสาวชาวฝรั่งเศสนามว่าลอรา” ในช่วงไม่กี่ปีก่อนเขาจะเสียชีวิตในปี 1635

การค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบายาโดลิด (Valladolid) และมหาลัยเวียนนา (Vienna) ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจสอบความเป็นเจ้าของบทละครจากช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ตั้งแต่ปี 2017

วรรณกรรม “ลา ฟรานเชสซ่า ลอรา” ซึ่งถูกจัดเข้าคลังผลงานนิรนาม 85,000 รายการ เป็นหนึ่งในบทละครยุคทอง 1,300 เรื่อง ที่ได้รับการถอดข้อความด้วยแพลตฟอร์มจำแนกข้อความทรานส์คริบัส (Transkribus)
ต่อจากนั้นโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์สไตโล เอไอ (Stylo AI) ได้วิเคราะห์ข้อความที่ผ่านการจำแนก โดยมีการเปรียบเทียบภาษาและสไตล์ของข้อความเหล่านั้นกับผลงานฉบับดิจิทัล 2,800 รายการของนักเขียนยุคบาโรก 350 คน

หอสมุดฯ ระบุว่าหากไม่มีเครื่องมือดิจิทัล การจำแนกบทละครอาจเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นหรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างมาก

อนึ่ง โลเป เด เวก้า นักเขียนคนสำคัญที่สุดลำดับ 2 ของสเปน รองจากมิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) เป็นที่รู้จักจากผลงานการประพันธ์มากมาย ซึ่งประกอบด้วยโคลงซอนเน็ต 3,000 บท และบทละครอีกประมาณ 500 เรื่อง

อ้างอิง : https://www.sanook.com/news/8767162/

มากันเรื่อยๆ! สำนักพิมพ์รายใหญ่กำลังใช้ AI เพื่อสร้างคำแนะนำด้านการออกกำลังกาย

สำนักพิมพ์รายใหญ่อีกรายกำลังใช้ AI เพื่อสร้างบทความโดยอ้างถึงประสิทธิภาพในการทำงาน

Arena Group Holdings บริษัทสื่อที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Sports Illustrated, TheStreet, Parade และ Men’s Journal กล่าวว่ากำลังร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านภาษา AI อย่าง Jasper และ Nota เพื่อขยายและเพิ่มความเร็วของ “เครื่องมือช่วยเหลือด้วย AI” ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมโมเดลภาษา AI ในเอกสารบทความของบริษัทเพื่อสร้างเรื่องราวบทความที่จะถูกนำไปแก้ไขต่อโดยมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ใน Men’s Journal บทความที่ได้รับความนิยมอย่างเช่น “เคล็ดลับที่พิสูจน์แล้วเพื่อช่วยให้คุณวิ่งได้เร็วที่สุด” และ “สิ่งที่ผู้ชายทุกคนควรรู้เกี่ยวกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ” ถูกเขียนขึ้นโดยใช้เครื่องมือที่สร้างโดย OpenAI ซึ่งจะมีข้อความ (disclaimer) แสดงให้เห็นว่าบทความนี้ถูกสร้างโดย AI

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า CNET ได้เผยแพร่บทความที่สร้างโดย AI อย่างเงียบ ๆ หลังจากถูกผลักดันให้เข้าสู่แผนการประหยัดเงินโดยเจ้าของใหม่อย่าง Red Ventures อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบบทความเหล่านี้หลังจากถูกวิจารณ์ว่าขาดการโปร่งใสในการเผยข้อมูลอย่างเหมาะสม และ Red Ventures พบว่ามากกว่าครึ่งของบทความเหล่านั้นมีข้อผิดพลาดและจำเป็นต้องแก้ไข

Arena Group อ้างว่าไม่ต้องการแทนที่นักข่าวด้วยการใช้ AI ที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องการสร้าง “คุณค่าองค์กรสำหรับแบรนด์และพันธมิตรของเรา” (อ้างอิงจาก CEO Ross Levinsohn) ในการแถลงข่าวที่ประกาศข่าว บริษัทอ้างว่าการใช้ AI ช่วยเพิ่ม “ประสิทธิภาพของเวิร์กโฟลว์ได้มากกว่า 10 เท่าของอัตราปกติ”

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า BuzzFeed จะใช้ AI เพื่อช่วยสร้างและปรับแต่งเนื้อหา และหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นอย่างทันท่วงที ซึ่งหุ้นใน Arena Group Holdings ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันหลังจากที่บริษัทประกาศข่าว AI แม้ว่าตัวเลขนี้จะยังคงต่ำกว่าราคาหุ้นของบริษัท ณ สิ้นเดือนมกราคม

“การทำงานร่วมกับ AI จะทำให้เราสามารถทำเนื้อหาได้มากขึ้นหรือไม่? อาจจะใช้ เพราะคุณจะมีเวลามากขึ้น” Levinsohn จาก Arena Group กล่าวกับ The Wall Street Journal แต่เขาเสริมว่า “มันไม่เกี่ยวกับ ‘สร้างเนื้อหาด้วย AI และทำเท่าที่คุณทำได้’ Google จะลงโทษคุณในเรื่องนั้นถ้าเนื้อหาของคุณนั้นไม่ดี แต่ถ้ามันดีกว่ามันก็จะดีกว่า”

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/2/3/23584305/ai-language-tools-media-use-arena-group-sports-illustrated-mens-journal

Google ลงทุน 300 ล้านดอลลาร์ในบริษัท AI ที่ก่อตั้งโดยอดีตนักวิจัย OpenAI

Anthropic ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับโมเดลภาษา AI โดยทางบริษัทได้สร้าง chatbot สำหรับใช้งานทั่วไปของตัวเองมีชื่อว่า “Claude” ซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับ ChatGPT แต่ยังไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะในตอนนี้

การแข่งขันระหว่าง Google และ Microsoft เกี่ยวกับอนาคตของเทคโนโลยี AI ยังคงร้อนระอุ แม้ว่า Microsoft จะพัวพันกับผู้สร้าง ChatGPT อย่าง OpenAI แต่ Google อาจหันไปหาบริษัทที่ก่อตั้งโดยอดีตพนักงาน OpenAI นั่นคือ Anthropic ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก

ตามรายงานของ Financial Times ในช่วงปลายปี 2565 Google ลงทุนประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ในสตาร์ทอัพตัวนี้ แม้ว่าข่าวจะไม่ได้รายงานในเวลานั้นก็ตาม เพื่อแลกกับเงิน Google ได้ถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท Anthropic ประกาศในสัปดาห์นี้ว่า Google Cloud เป็น “ผู้ให้บริการคลาวด์ที่พวกเขาต้องการ” กับ บริษัท “ได้ร่วมพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ AI ด้วยกัน”

โดยการเคลื่อนไหวนี้ค่อนข้างคล้ายกับความร่วมมือระหว่าง Microsoft และ OpenAI ที่ OpenAI มอบความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย ในขณะที่ Microsoft ไม่เพียงแต่ให้เงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ยังให้ความสามารถในการเข้าถึงแพลตฟอร์มคลาวด์ขนาดมหึมา ซึ่งจำเป็นสำหรับการฝึกอบรมโมเดล AI

เรื่องราวเบื้องหลังของการก่อตั้ง Anthropic ก็มีความเกี่ยวข้องกับ OpenAI เช่นกัน องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 ในฐานะองค์กรสาธารณประโยชน์โดย Dario Amodei อดีตรองประธานฝ่ายวิจัยของ OpenAI โดย Amodei พานักวิจัยจำนวนหนึ่งจาก OpenAI รวมถึง Tom Brown หัวหน้าวิศวกรสำหรับโมเดลภาษา GPT-3 ซึ่ง Amodei แยกตัวออกจาก OpenAI “หลังจากไม่เห็นด้วยกับทิศทางของบริษัท” นั่นคือการมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์ของบริษัทมากขึ้นหลังจากข้อตกลงครั้งแรกกับ Microsoft ในปี 2561

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/2/3/23584540/google-anthropic-investment-300-million-openai-chatgpt-rival-claude

ผู้ก่อตั้ง Spotify ช่วยพัฒนาเครื่องสแกนสุขภาพร่างกายที่ขับเคลื่อนด้วย AI

Daniel Ek ผู้ก่อตั้ง Spotify กำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ตามโพสต์ของ Ek ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Neko Health ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสแกนร่างกายที่ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตามที่รายงานก่อนหน้านี้โดยสำนักข่าวในยุโรป Sifter และ Tech.eu

“หลังจากสี่ปีของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเข้มข้น เราได้เปิดตัว Neko Health อย่างเป็นทางการในวันนี้” โพสต์ระบุ “บริษัทก่อตั้งโดย Hjalmar Nilsonne และ Daniel Ek ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะสร้างระบบการดูแลสุขภาพที่สามารถช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีผ่านมาตรการป้องกันและการตรวจหาแต่เนิ่นๆ”

เว็บไซต์ Neko Health ให้ข้อมูลว่าเครื่องสแกนร่างกายของบริษัทสวีเดนสามารถตรวจจับและวัดการเจริญเติบโตของปาน ผื่น และจุดด่างได้ นอกจากนี้ยังใช้เครื่องสแกนแยกต่างหากเพื่อตรวจจับความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต และชีพจรทั่วร่างกาย ได้อีกด้วย Neko กล่าวว่าเครื่องสแกนร่างกายแบบ 360 องศาของบริษัทมาพร้อมกับเซนเซอร์มากกว่า 70 ตัวที่รวบรวมข้อมูลมากกว่า 50 ล้านจุดบนผิวหนัง หัวใจ หลอดเลือด การหายใจ การไหลเวียนของเลือดขนาดเล็ก และอื่นๆ ข้อมูลนี้จะถูกวิเคราะห์โดย “ระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่เรียนรู้ด้วยตนเอง” ซึ่งจะให้ผลลัพธ์สำหรับแพทย์และผู้ป่วย ลูกค้าจะได้รับผลลัพธ์ตามที่นัดหมาย และยังสามารถดูและติดตามผลลัพธ์ได้ในแอปที่ให้มาพร้อมกัน

“ภารกิจของเราคือการสร้างระบบการรักษาพยาบาลเชิงรุก ซึ่งเป็นระบบที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกันโรค” Nilsonne เขียนในโพสต์บน LinkedIn โดยอ้างถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นในสวีเดนและสหภาพยุโรป

การที่ Ek ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย ข่าวลือเกี่ยวกับสตาร์ทอัพของเขาแพร่สะพัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และ Ek ก็พูดเป็นนัยมานานแล้วว่าเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ในปี 2556 โดย The Financial Times เปิดเผยว่า Ek ใช้เวลาว่างในการคิดหาวิธีแก้ไขระบบการรักษาพยาบาลที่ ‘ผิดพลาด’ “ฉันไม่ใช่นักประดิษฐ์ แต่ฉันอาจเป็นคนที่โง่พอที่จะต่อต้านระบบและพยายามเอาชนะมันด้วยเงื่อนไขของมันเอง” เขากล่าวในตอนนั้น

อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า Neko Health มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพอย่างไร เทคโนโลยีที่คล้ายกันได้เกิดขึ้นในอดีต โดย Facebook และมหาวิทยาลัยนิวยอร์กร่วมมือกันเพื่อทำให้การสแกน MRI เร็วขึ้นโดยใช้ AI และนักวิจัยที่พัฒนาเทคโนโลยี AI ที่สแกนเรตินาและทำนายความเสี่ยงของโรคหัวใจ แต่ Neko Health ใช้เทคโนโลยีนี้ในระดับที่ใหญ่ขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะคิดถึงศักยภาพของมัน

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/2/4/23585948/spotify-founder-daniel-ek-ai-body-health-scanner

นักดาราศาสตร์ใช้ AI ช่วยหาสัญญาณจาก มนุษย์ต่างดาว

การวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Astronomy ระบุว่า นักดาราศาสตร์ใช้ AI ช่วยในการระบุหาสัญญาณจาก มนุษย์ต่างดาว ที่เคยมองข้ามไปนับล้านรายการ

โครงการเซติ หรือ SETI (The search for extraterrestrial intelligence) คือองค์การไม่แสวงหากำไรเพื่อค้นหาอะไรก็ตามที่อาจมาจากอารยธรรมต่างดาว โดยพวกเขาเรียกมันว่า ‘ลายเซ็นเทคโนโลยี’ (Technosignature) ตั้งแต่ข้อความวิทยุที่ใช้ติดต่อกันไปจนถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ในอวกาศ ซึ่ง ปีเตอร์ หม่า (Peter Ma) นักวิจัยด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้ฝึกให้เครื่องจักรรู้จักกับดาราศาสตร์วิทยุ (Radio astronomy) เป็นครั้งแรก

ข้อมูลกว่า 480 ชั่วโมงที่มาจากการสังเกตดวงดาว 820 ดวง โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงค์ (Green Bank) ที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกใช้เป็นแบบฝึกหัดให้กับอัลกอริทึมนี้ เพื่อระบุข้อมูลที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น จากนั้นแยกมันออกมาว่ามีความสำคัญหรือไม่ หรือเป็นเพียงสัญญาณที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

จาก 2.9 ล้านสัญญาณ ระบบได้ตีกรอบให้แคบลงเหลือ 20,515 รายการที่น่าสนใจมากพอที่จะตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ตรวจหาโดยมนุษย์ที่พบเพียง 200 รายการ และเมื่อวิเคราะห์อย่างใกล้ชิดจากทั้งหมดนั้น ทีมงานพบว่ามี 8 สัญญาณที่น่าสนใจถึงที่สุด มันอาจเป็นสิ่งลึกลับ หรือข้อความจากวัฒนธรรมต่างดาว

การแสดงค่าของอัลกอริทึมระบุว่ามาจากดาวที่ห่างออกไปเพียง 30 ถึง 90 ปีแสง มันมีความโดดเด่นตรงที่สัญญาณนั้นถูกถ่ายทอดในแถบความถี่ที่เฉพาะและแคบ อีกทั้งความยาวคลื่นของสัญญาณดูเหมือนจะมีการ ‘สั่น’ เล็กน้อยคล้ายกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ดอปเปลอร์ (Doppler Effect) กล่าวง่าย ๆ คือคลื่นวิทยุนั้นมีการยืดขึ้นหรือหดสั้นลงเล็กน้อยเมื่อผู้ส่งมีการเคลื่อนที่เข้าใกล้หรือออกห่างจากผู้รับมากขึ้น

“เนื่องจากเป้าหมายหลักของงานนี้คือการใช้เทคนิคใหม่เพื่อให้เครื่องเรียนรู้และระบุสัญญาณที่มีรูปแบบเฉพาะ เราจึงไม่พยายามสรุปอย่างแน่ชัดว่าสัญญาณทั้ง 8 นี้เกิดจากสิ่งมีชีวิตทรงปัญญานอกโลกอย่างแท้จริงหรือไม่” รายงานระบุ “เราสนับสนุนให้มีการสังเกตเป้าหมายเหล่านี้ซ้ำอีกครั้ง”

มันอาจเป็นการสัญญาณที่ถูกรบกวนจากวิทยุบนพื้นโลกประเภทใหม่ที่ทั้ง เอไอ และทีมวิจัยยังไม่รู้จัก หรืออาจเป็นปรากฎการณ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชนิดใหม่ก็เป็นไปได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบพัลซาร์ครั้งแรก พวกเขาก็พิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าอาจพบกับมนุษย์ต่างดาว

แต่น่าเสียดายที่เมื่อทีมงานชี้เสาสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปหาดวงดาวเหล่านั้นอีกครั้ง พวกเขาก็ไม่ได้ยินอะไรเลย จากสัญญาณที่น่าสนใจกลายเป็นความว่างเปล่าที่ไม่สามารถระบุได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่มีวันรู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร ยังไงก็ตามนี่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะได้เรียนรู้จากการ ‘ฟัง’ อะไรก็ตามที่อยู่บนท้องฟ้า

เมื่อเวลาผ่านไป AI จะเรียนรู้เพิ่มขึ้นว่าสิ่งใดน่าจะเป็นสัญญาณวิทยุของมนุษย์เอง เป็นดาวฤกษ์ที่ห่างไกล หรืออาจเป็นของสิ่งมีชีวิตต่างดาวจริง ๆ การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Breakthrough Listen ซึ่งเป็นการค้นหามนุษย์ต่างดาวที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชน

“เรากำลังขยายความพยายามในการค้นหานี้เป็น 1 ล้านดวงด้วยกล้องโทรทรรศน์ MeerKAT (ที่กำลังก่อสร้าง) เราเชื่อว่าการทำงานเช่นนี้จะช่วยเร่งความเป็นไปได้ที่เราจะค้นพบความพยายามในการตอบคำถามว่า ‘เราอยู่คนเดียวในจักรวาลหรือไม่’” หม่า กล่าว

อ้างอิง : https://ngthai.com/science/46840/%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89-ai-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AB/

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน  3 – 9 กุมภาพันธ์ 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก