ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 1 เดือน สิงหาคม 2023

มาอีกหนึ่ง Lisa ผู้ประกาศข่าว AI จากอินเดีย อวดสรรพคุณพูดได้ 75 ภาษา

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายงานข่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะในแต่ละสำนักข่าวได้นำเอไอเหล่านี้มาใช้ประโยชน์กับงานของตนเอง ตั้งแต่การใช้เอไอเขียนข่าว การใช้เอไอวาดรูปประกอบภาพข่าว ตลอดจนใช้เอไอรายงานข่าว

ในครั้งนี้ Odisha TV ช่องข่าวในอินเดีย ได้ส่ง “ลิซ่า (Lisa)” เอไอรายงานข่าวสวมชุดส่าหรีลงสนาม ลิซ่าสามารถพูดได้ถึง 75 ภาษา สามารถอ่านข่าวรายวัน ทำนายโชคชะตา ข่าวกีฬาและรายงานสภาพอากาศ ซึ่งโดนกระแสตอบกลับว่า “อ่านข่าวได้ไร้อารมณ์และดูไร้ชีวิตจิตใจ”

จากี แมงกัต แพนดา (Jagi Mangat Panda) ประธานของช่องทีวี Odisha กล่าวว่า ผู้ประกาศข่าวเอไอนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการแพร่ภาพโทรทัศน์และสื่อสารมวลชนดิจิทัล

เป้าหมายของเอไอลิซ่าคือ ช่วยทำงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน บางงานก็เป็นงานที่ซ้ำซาก การเข้ามาของเอไอทำให้พนักงานใช้เวลาโฟกัสกับงานสร้างสรรค์ที่ยากกว่า เพื่อนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ลิซ่าไม่ใช่ผู้ประกาศข่าวเอไอคนแรกของอินเดีย ก่อนหน้านี้ยังมี ซานะ (Sana) เอไอรายแรกของอินเดีย พัฒนาโดย อินเดีย ทูเดย์ กรุป (India Today Group) สื่อซึ่งตั้งอยู่ในเดลี
ในแง่มุมหนึ่งการใช้เอไออาจเหมาะกับอินเดีย เพราะเป็นประเทศที่ผู้คนใช้ภาษาทางการกันถึง 22 ภาษา และภาษาพูดที่ต่างกันอีกมาก การเทรนเอไอด้วยภาษาถิ่นของอินเดีย จะทำให้เรื่องเหล่านี้ง่ายขึ้นสำหรับวงการสื่อสารมวลชนในอินเดีย

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1081219

MIT สร้างเครื่องมือป้องกัน ไม่ให้ AI นำรูปภาพไปปลอมแปลง

ในยุคที่เอไอ (AI) สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ แต่นั่นก็อาจจะเป็นดาบสองคม ถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ ทีมนักวิจัยจากเอ็มไอที (MIT) จึงได้สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า “โฟโต้การ์ด (Photoguard)” ขึ้นมา เพื่อป้องกันการนำภาพไปตัดต่อด้วยปัญญาประดิษฐ์

นี่คือเครื่องมือที่มีชื่อว่า “โฟโต้การ์ด (Photoguard)” ซึ่งเป็นเครื่องมือป้องกันรูปภาพไม่ให้ถูกนำไปใช้ตัดต่อด้วยเครื่องมือเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเป็นผลงานของทีมนักวิจัยจากเอ็มไอที (MIT) หรือสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยวิธีการของโฟโต้การ์ดจะเลือกปรับเปลี่ยนพิกเซลในลักษณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถตรวจจับและอ่านการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่มนุษย์จะยังมองเห็นรูปภาพได้เหมือนเดิม แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง กลยุทธ์นี้ป้องกันอัลกอริทึมของเอไอ (AI) จากการทำความเข้าใจและสร้างภาพซ้ำอย่างถูกต้อง
เมื่อภาพที่ใช้โฟโต้การ์ดเป็นเกราะกำบัง เอไอจะไม่สามารถประมวลผลพิกเซลของภาพได้ ส่งผลให้มันไม่สามารถดัดแปลงรูปภาพได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้งานโปรแกรมโฟโต้การ์ดได้ทางเว็บไซต์กิตฮับ (GitHub) ที่เป็นเว็บไซต์สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน มีการยกตัวอย่างจากทีมงาน ใช้โฟโต้การ์ดบนโพสต์อินสตาแกรม (Instagram) ของเทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) และไมเคิล คอสต้า (Michael Kosta) ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายระหว่างรับชมการแข่งขันเทนนิส โดยทีมงานได้ใช้เอไอเพื่อปรับเปลี่ยนภาพและทำให้ทั้ง 2 คน ดูเหมือนกำลังเต้นรำกันอยู่ในชุดทักซิโด้ แต่เมื่อนำโฟโต้การ์ดมาใช้กับรูปภาพนั้น ปรากฏว่าเอไอไม่สามารถประมวลผลและตัดต่อภาพได้

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมนี้ยังมีข้อจำกัด เพราะจุดเด่นของเอไอ มันจะฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ หากมีการเรียนรู้ซ้ำ ๆ ซึ่งรูปภาพที่ถูกปรับเปลี่ยนพิกเซลโดยโฟโต้การ์ดอาจถูกเอไอนำไปวิเคราะห์เพื่อดัดแปลงภาพได้ หากมีการนำกระบวนการย้อนกลับมาใช้กับภาพ ก่อนนำไปให้เอไอวิเคราะห์ เช่น การเพิ่มสัญญาณรบกวนดิจิทัล, การครอบตัด หรือการพลิกภาพ
แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มงานให้กับมิจฉาชีพไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งทีมนักวิจัยมีเป้าหมายที่จะนำหน้ามิจฉาชีพอย่างน้อยหนึ่งก้าว ทั้งนี้นักวิจัยยังคงไม่หยุดนิ่งและมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้การโจรกรรมและปลอมแปลงข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นไปได้ยากขึ้นนั่นเอง

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/152386/

Google เตรียมนำ Generative AI มาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ Google Assistant

“Google เตรียมยกแผงผลิตภัณฑ์ Google Assistant ใหม่หมดจดนำพลัง Generative AI มาปรับใช้มีฟีเจอร์การทำงานคล้าย ๆ กับ ChatGPT และ Google Bard

รายงานดังกล่าวมาจาก Axios ที่ได้ระบุว่า ทาง Google ได้เลิกจ้างพนักงานในแผนก Assistant บางส่วน และโยกย้ายพนักงานไปแผนกอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการแจ้งพนักงานว่า จะมีแผนอัปเดตผลิตภัณฑ์ Assistant ขับเคลื่อนฟีเจอร์ด้วยพลังจาก Generative AI และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่ฟีเจอร์การทำงานบางอย่างจะคล้ายคลึงกับแชทบอทของ ChatGPT และ Google Bard

ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีข้อมูลออกมาจากทาง Google ว่าการยกแผงผลิตภัณฑ์ Assistant ขับเคลื่อนด้วย Generative AI จะมีฟีเจอร์การทำงานอะไรบ้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าการเสริมพลังด้วย AI จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถถามตอบ และได้คำตอบโดยตรงที่ได้จากการรวบรวมหลาย ๆ เว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต”

อ้างอิง : https://news.trueid.net/detail/zLwNjvyyJQwo

เคนย่าระงับโครงการคริปโตฯสแกนม่านตาของผู้ก่อตั้ง OpenAI

“เคนย่ากำลังระงับสำหรับเหรียญคริปโตฯ Worldcoin ซึ่งเป็นโครงการคริปโตสแกนม่านตาที่เปิดตัวโดย Sam Altman ผู้ก่อตั้ง OpenAI โดยรัฐบาลเคนย่าได้สั่งให้ Worldcoin หยุดรวบรวมข้อมูลในประเทศของเขาในขณะที่เริ่มตรวจสอบโครงการเพื่อหาความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น

Worldcoin เป็นโครงการที่ใช้ม่านตาของผู้ใช้งานเพื่อสร้างตัวตนดิจิทัลที่ไม่เหมือนใครขึ้นมา ซึ่งเราสามารถเชื่อมโยงกับสกุลเงินดิจิทัลที่จัดการผ่าน World App ของบริษัทได้ โครงการเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและมีคนต่อคิวเพื่อรับการสแกนลูกตาโดย Worldcoin ที่จัดตั้งขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

ในการแถลงข่าวของหน่วยงาน Communications Authority of Kenya กล่าวว่ากำลังจะประเมินโปรเจค Worldcoin เนื่องจาก “ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยและการจัดเก็บข้อมูล” ของการสแกนม่านตา เช่นเดียวกับ “ความไม่แน่นอน” ในวงการ cryptocurrency อีกด้วย ตามรายงานจาก Rest of World ชาวเคนยาได้รับ 25 worldcoins ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 7,100 ชิลลิงเคนยา (ประมาณ 50 ดอลลาร์) เพียงเพื่อสมัครใช้บริการ โดยรายงานได้ตั้งข้อสังเกตว่า “มีคนค่อนข้างน้อยที่คุ้นเคยกับเป้าหมายของโครงการ” และส่วนมากพวกเขาต้องการแค่รางวัล $50 มากกว่า

เคนยาไม่ใช่ประเทศเดียวที่มองหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก Worldcoin หน่วยงานกำกับดูแลในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักรกำลังประเมินโครงการด้วยว่าอาจละเมิดการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวหรือไม่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ Worldcoin ยืนยันว่า “ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ไม่เคยหลุดออกจากระบบ” และ “ถูกลบอย่างถาวร” หลังจากที่คุณสมัครใช้งาน บริษัทจะบันทึก IrisCode ของคุณแทน ซึ่งเป็นชุดตัวเลขเฉพาะที่แสดงถึงตัวตนของคุณ”

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/8/2/23817147/kenya-worldcoin-suspended-sam-altman-eyeball-scanning

YouTube เริ่มใช้ AI เพื่อสรุปวิดีโอในการทดสอบล่าสุด

“Google กำลังทดลองใช้ AI เพื่อสรุปวิดีโอ YouTube ออกมาเป็นข้อความโดยอัตโนมัติ ตามประกาศเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ข้อความสรุปเหล่านี้จะปรากฏในวิดีโอภาษาอังกฤษเท่านั้น และจะมีผู้ใช้จำนวนจำกัดเท่านั้นที่ดูได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปภาพรวมโดยย่อของเนื้อหาวิดีโอ

ในหน้าเว็บไซต์ในส่วนของการสนับสนุนเขียนไว้ว่า “เรากำลังเริ่มทดสอบการสรุปที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย AI บน YouTube เพื่อให้คุณอ่านข้อมูลสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับวิดีโอได้ง่ายขึ้น และตัดสินใจว่าเหมาะกับคุณหรือไม่”

การทดลองของ YouTube เป็นหนึ่งในโครงการริเริ่ม AI เชิงสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นที่ Google ในขณะนี้ เนื่องจากบริษัทต่างแข่งขันกันเพื่อหาประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้นใหม่ ตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปที่การประชุมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้ประกาศฟีเจอร์ใหม่ของ Play Store ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การใช้ AI กำเนิดเพื่อสรุปรีวิวแอปจากผู้ใช้ แต่แน่นอนว่านั่นเป็นเพียงส่วนเล็กของภูเขาน้ำแข็งเมื่อพูดถึงความพยายามด้าน AI ของ Google ซึ่งรวมถึง Search Generative Experience ใหม่ และเครื่องมือ Duet AI สำหรับแอป Workspace

อย่างไรก็ตาม บริษัทอื่นๆ ก็ได้พยายามใช้ AI เพื่อสร้างบทสรุปของเนื้อหาออนไลน์โดยอัตโนมัติเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Artifact เพิ่งเปิดตัวคุณลักษณะสรุปสำหรับบทความข่าว”

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/8/1/23815321/youtube-ai-video-summaries

LinkedIn กำลังพัฒนา AI ‘โค้ช’ สำหรับการสมัครงาน

LinkedIn ดูเหมือนว่ากำลังพัฒนาเครื่องมือ AI ใหม่ที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาและสมัครงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข่าวลือว่า บริษัทจะมีผู้ช่วย AI “LinkedIn Coach” ที่สามารถช่วยเหลือคุณตลอดขั้นตอนการสมัคร สอนทักษะใหม่ๆ และช่วยคุณสร้างเครือข่ายบนเครือข่าย LinkedIn ของคุณได้

ข่าวดังกล่าวมาจากนักวิจัยแอป Nima Owji ซึ่งเปิดเผยฟีเจอร์จากนักพัฒนาหลายรายที่ยังไม่ได้ใช้งาน ทาง Amanda Purvis โฆษกของ LinkedIn บอก ว่าบริษัทกำลัง “สำรวจ” วิธีใหม่ๆ ในการปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้บนแพลตฟอร์มอยู่เสมอ Purvis เสริมว่า บริษัท “จะมีหลายๆอย่างที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้”

เราจะเห็นได้ว่าไมโครซอฟต์ใส่แชทบอทในทุกสิ่งตั้งแต่ Bing ไปจนถึง Copilot ที่สร้างเอกสารของ Office ซึ่งเพิ่งประกาศราคาที่สูงลิ่วเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทเพิ่งเปิดตัวแชทบอทเข้ารหัสสำหรับ GitHub ในรุ่นเบต้า และแน่นอนสำหรับ LinkedIn ก็คงเป็นเช่นนั้น

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/7/27/23810141/linkedin-coach-ai-assistant-chatbot-leak

“ฮุนได-เกีย” ลงขัน 50 ล้านดอลลาร์ร่วมลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพด้านชิป AI 

บริษัทฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ระบุในวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า ทางบริษัทจะลงทุนเชิงกลยุทธ์กับบริษัทเทนส์ทอร์เรนต์ (Tenstorrent) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพด้านเซมิคอนดักเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บริษัทฮุนได มอเตอร์และบริษัทเกียจะลงทุนรวมกัน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับบริษัทเทนส์ทอร์เรนต์ โดยทั้งฮุนไดกับเกียจะกลายเป็นกลุ่มผู้ลงทุนหลักในการระดมทุนรอบล่าสุดของเทนส์ทอร์เรนต์เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์

ด้านฮุนไดและเกียระบุว่า การลงทุนจะถูกใช้เพื่อเร่งการออกแบบ และพัฒนาชิปเล็ต (chiplets) AI ของเทนส์ทอร์เรนต์ และแผนงานซอฟต์แวร์การเรียนรู้ของเครื่อง (ML)

เซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่พัฒนาขึ้นใหม่จะถูกนำไปใช้กับหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) และหน่วยประมวลผลข่ายประสาท (NPU) สำหรับยานยนต์และโซลูชันการเคลื่อนที่ในอนาคต

เมื่อต้นปีนี้ ฮุนไดได้เปิดตัวหน่วยพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์เพื่อการพัฒนาชิปแบบกำหนดเองสำหรับยานยนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพของชิปผ่านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรต่าง ๆ

อ้างอิง : https://www.infoquest.co.th/2023/323255

เหมือนได้เกิดใหม่ ! AI ช่วยให้ชายที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก กลับมารับความรู้สึกได้อีกครั้ง

นี่เป็นครั้งแรกในวงการแพทย์ที่นักวิจัยได้ใช้สมองเทียมขับเคลื่อนด้วย AI ในการช่วยกายภาพบำบัดและตอบสนองประสาทสัมผัสของชายที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกตั้งแต่หน้าอกลงไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

Keith Thomas วัย 45 ปี กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีก หลังจากได้รับอุบัติเหตุจากการดำน้ำที่ทำให้กระดูกสันหลังส่วน C4 และ C5 ของเขาเสียหายในปี 2020 แต่ด้วยผลงานการบุกเบิกของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Feinstein Institutes ของ Northwell Health ทำให้ตอนนี้ Thomas สามารถขยับแขนของเขาได้ง่ายๆ เพียงแค่นึกถึงมัน ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น เขาสามารถรู้สึกได้ถึงการสัมผัสจากมือตนเองเป็นครั้งแรกในรอบสามปี

ตามที่อธิบายโดย Northwell Health ความก้าวหน้านี้เกิดขึ้นได้ด้วยนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการผ่าตัด Double neural bypass โดยประการแรก ศัลยแพทย์จะฝังไมโครชิปในสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวและความรู้สึกสัมผัสในมือของโทมัสใช ชิปจะเชื่อมต่อกับอัลกอริทึม AI ที่ เชื่อมโยงสมองของเขากับร่างกายและไขสันหลังอีกครั้ง นำไปสู่การตีความความคิดของโทมัสและแปลงเป็นการกระทำได้

เมื่อโทมัสคิดจะขยับแขน สัญญาณจากชิปในสมองจะกระตุ้นชุดแผ่นอิเล็กโทรดบนกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อแขนของเขาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหว ชิปเซนเซอร์ขนาดเล็กบนนิ้วของเขาจะส่งข้อมูลการสัมผัสกลับไปยังสมองของเขาเพื่อสร้างความรู้สึกขึ้นมาใหม่ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสมองและจิตใจได้โดยก้าวข้ามอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังของเขา

ภายในเวลาเพียงสี่เดือนหลังจากได้รับการปลูกถ่าย Thomas มีกำลังแขนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น นักวิจัยเชื่อว่าการ bypass ซ้ำๆ จะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งสมอง ร่างกาย และไขสันหลังอาจเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่ลืมไปใหม่ได้ “นี่คือสิ่งที่จะมาปฏิวัติวงการ” Chad Bouton หัวหน้านักวิจัย กล่าวในบทความที่ตีพิมพ์โดย Northwell Health “เป้าหมายของเราคือในวันหนึ่ง คนที่เป็นอัมพาตจะสามารถมีชีวิตที่เป็นอิสระและสมบูรณ์มากขึ้นได้”

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีขั้นตอนการทำ brain mapping เป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมง และ Thomas จะต้องรู้สึกตัวในบางขั้นตอนของการผ่าตัด ซึ่งเขากล่าวถึงในจุดนี้ว่าเป็นสิ่งที่ “เกินจะรับได้ไหว”

อ้างอิง : https://siamblockchain.com/2023/08/03/mind-over-paralysis-ai-helps-quadriplegic-man-move-and-feel-again/

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน  28 กรกฎาคม  – 4 สิงหาคม 2566 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก